Skip Ribbon Commands
Skip to main content
ประชาสัมพันธ์และภาพกิจกรรม > ร่วมพูดคุยกับคลื่นแห่งความสุข > Posts > จิตตก ต้อง ยกไหม
 

 Posts

 
มีนาคม 15
จิตตก ต้อง ยกไหม

        จิตตก คือสภาวะของจิตใจที่ไม่เป็นปกติ..เศร้าหมอง..ซึมเศร้า..วิตกจริต..คิดมาก...มีอะไรมากระทบกระเทือนจิตใจหน่อยก็หวั่นไหวมากกว่าปกติ   จิตตก เป็นอาการเศร้าหมองของจิตอย่างหนึ่งที่สร้างความไม่สบายใจ สร้างความกังวลใจ รู้สึกทุกข์ใจ มันจะขึ้นๆลงๆ ด้วยสภาพแวดล้อมกระทบเป็นอาการของจิตที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่ดี แล้วเป็นกังวลในสิ่งที่ไม่ดีที่ได้กระทำลงไปนั้นๆ

 

        เราจะรู้ว่าจิตตกได้ เมื่อ คิด พูด ทำสิ่งที่ไม่ดี  กระทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ อันนี้ทำให้จิตเศร้าหมอง เสมือนเอาแต่สิ่งสกปรกมาทับถมจิตเราอยู่อย่างนั้น...  เราจะรู้สึกตัวว่าเป็นกังวลกับสิ่งที่ไม่ดีแล้วเกิดอาการทุกข์ใจ เพราะจิตใจไม่ใสสะอาด จิตเลยมีอาการเศร้าหมองนั่นเอง........ผลเสียก็คือเมื่อจิตมีความกังวลมากไป ก็ทำให้เกิดความเครียด เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ ใครที่ควบคุมหรือปล่อยวางไม่ได้ก็จะมีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ รู้สึกห่อเหี่ยวใจ หรือ หมดกำลังใจ ถ้ามากก็จะแสดงออกทางอารมณ์ เสียใจ ร้องไห้
บางคนมากจนเสียสติ เป็นโรคประสาท หรือเป็นบ้าไปเลยก็มี ถ้ามากๆที่สุดก็จะคือการฆ่าตัวตายที่เห็นๆ
ในสังคมปัจจุบัน...
        อาการจิตตกมันสามารถทำให้ความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายคนเราเกิดขึ้นได้ แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดจิตตก เครียด วิตกกังวล ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้กลไกทางภูมิคุ้มกันลดลง เซลล์ที่ผิดปกติก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสังเกตได้ว่าผู้อยู่ในอาการภาวะจิตตกจะมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากปกติ  อาทิเช่น  เคยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอกลายเป็นน้อยลงหรือเลิกออกไปเลย รับประทานอาหารมากขึ้นกว่าเดิมหรืออาจจะโหยหิวตลอดเวลา เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งทางกายและทางใจทั้งสิ้น อย่างที่เขาว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าวฉันใดก็ฉันนั้นนั่นเอง
          ความเครียดที่เกิดจากวิกฤติและปัญหาต่างๆ ร่างกายและจิตใจจะเกิดปฏิกิริยาความวิตก หรืออาการเครียดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของจิตใจแต่ละคนว่าเติบโตในครอบครัวแบบไหน อาการจิตตกหรือความวิตก และความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถือเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจต่อการสูญเสีย ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ เป็นกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น ห่วงนั่นห่วงนี่ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นโรค เพราะเมื่อเกิดอาการในคนทั่วไปจะหายได้เองในเวลาต่อมาหลังเหตุการณ์จบลง
 
ความเครียดที่เกิดขึ้น แบ่งอาการเป็นได้ดังนี้คือ ระยะเริ่มยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจิตใจจะเริ่มรู้สึก โกรธ พร้อมกับโทษสิ่งรอบตัวถึงการเป็นสาเหตุและเมื่อจิตใจเริ่มยอมรับว่ามีความสูญเสียได้แล้ว จะเริ่มเกิดความสิ้นหวัง ท้อแท้ ซึมเศร้า ตามมาบุคลิกการแสดงออกหลังจากเกิดความเครียด ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอารมณ์และจิตใจของแต่ละคน ว่าปกติเป็นคนอารมณ์แบบไหน หากเป็นคนใจร้อน คาดหวังสูง ปฏิกิริยาก็อาจออกมารุนแรง เช่น หงุดหงิด กังวล ปวดศีรษะ ปวดตามเนื้อตัว กระวนกระวาย โมโหง่าย ส่วนคนที่อารมณ์เย็น ใช้เหตุผล อาจมีอาการน้อยกว่าเนื่องจากจิตใจที่ยอมรับได้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความคาดหวังของเจ้าตัวด้วย หากคาดหวังสูงแต่ผลออกมาน้อย เขาก็จะผิดหวังเยอะกว่าเพื่อนก็ได้ 
                คนที่อยู่ในภาวะจิตตกย่อมรู้ตัวเองดีที่สุดว่าตัวเองกำลังจิตตกอยู่เพราะเรื่องอะไร  เหตุผลสำคัญในการวิเคราะห์ว่าคนคนนั้นอยู่ในภาวะไหน หรือเสี่ยงจะเป็นโรคเครียดตามมาหรือไม่ ต้องดูด้วยว่า เขาสูญเสียมากน้อยแค่ไหน มีความเดือดร้อนมากกว่าคนรอบตัวเขาหรือเปล่า หรือเป็นคนที่มีนิสัยชอบคิด ชอบวิตกกังวลมากกว่าคนอื่นๆ หรือไม่ รวมถึงมีความเครียดต่อเนื่องมานานแค่ไหน
              สังคมทุกวันนี้กลุ่มบุคคลที่จะเสี่ยงต่ออาการ จิตตก มากที่สุดคงเลี่ยงไม่พ้น กลุ่มวัยรุ่นนั่นเองบุคคลที่มีอารมณ์แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาเป็นประจำ  พบว่าเด็กเหล่านี้มีปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอารมณ์และจิตใจ จนกระทั่งได้รับการเรียกขานว่าเป็น
เด็กไทยพันธุ์ใหม่   เด็กและเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังประสบภาวะปัญหาด้าน อีคิวตกต่ำอย่างรุนแรงและไร้ภูมิต้านทานทางอารมณ์ ในการพัฒนาอีคิวนั้นโรงเรียนเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนอย่างน้อย 9-12 ปี เป็นช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทักษะทางด้านอีคิว
            
การพัฒนาอีคิวให้แก่เด็กนักเรียนสามารถบูรณาการได้ในแทบทุกรายวิชาและทุกระดับชั้น โดยครูอาจจะต้องเลือกและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับระดับชั้นของนักเรียน อาทิ สุขศึกษาสอนให้เด็กรู้จักตนเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม    ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฝึกการพูดและเขียนที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกวิทยาศาสตร์ ให้เด็กแบ่งกลุ่ม ทำงานร่วมกับเพื่อนเรียนรู้การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและการแบ่งปัน ประวัติศาสตร์เลือกตัวละคร ในประวัติศาสตร์ที่มีบุคลิกต่างๆ กันทั้งที่มีอีคิวดีและ อีคิวตํ่า ให้นักเรียนวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเหล่านั้น เป็นต้น นอกจากการ บูรณาการแล้วยังสามารถจัดค่ายนอกสถานที่เพื่อฝึกทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความมีนํ้าใจ และการสร้างเสริมระเบียบวินัย ดังที่ได้มีหน่วยงานบางแห่งในขณะนี้จัดกิจกรรมค่ายเด็กอาชีวะและค่ายเด็กติดยาเสพติด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา และสร้างค่านิยมใหม่ในทางบวกให้แก่เด็กจากเอกสารข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  วัยรุ่นเป็นวัยที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่จะเลือกทิศทางเดินของตนเอง ถ้าวัยรุ่นได้รับการเลี้ยงดูในวัยเด็กเป็นอย่างดี เขาจะก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่ด้วยความมั่นคง แต่ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูเขาไม่ดี เด็กขาดความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใย จากพ่อแม่ และถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีอีกด้วยแล้ว โอกาสที่เด็กจะสร้างปัญหาให้แก่สังคมย่อมมีมาก  สถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องหันมาให้ความสนใจวัยรุ่นกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ ครอบครัว พ่อแม่ต้องให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก ปรับปรุงสภาพครอบครัวให้น่าอยู่อาศัย สร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอย่างมีคุณภาพ ในขณะที่โรงเรียนก็ต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นกว่าการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว คือต้องมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ สร้างทักษะทางสังคมและความสามารถในการปรับตัวให้กับวัยรุ่น เพื่อให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติต่อไป
            จิตตกยังเป็นอาการปกติของเราที่สามารถเกิดขึ้นได้  แต่หากสั่งสมไม่ได้รับการแก้ไขในระยะยาวจะพัฒนาเป็นอาการทางระบบประสาทได้  ฉะนั้นจิตตกยังไม่ใช่อาการโรคประสาทและโรคจิต เพราะโรคประสาท เป็นความผิดปกติของจิตใจค่อนข้างรุนแรง มีความวิตกกังวลเป็นอาการหลักร่วมกับอาการทางจิตอื่น ๆ จากสภาพจิตใจที่อ่อนแอไม่สามารถทนต่อความคับแค้นของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกติ อยู่ในกรอบของสังคมได้ ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง จะมีอาการนานเกินหนึ่งเดือน สามารถรักษาให้หายหรือทุเลาได้  ส่วนโรคจิต เป็นความผิดปกติของจิตใจขั้นรุนแรง ไม่สามารถประกอบภารกิจการงานได้ ไม่ทราบว่าตนเองมีความผิดปกติ ไม่สามารถช่วยตนเองในการดำรงชีวิตประจำวันได้ ไม่สามารถรับรู้สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันได้ ไม่ทราบว่าตนเองเป็นใคร บุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิมจำเป็นต้องได้รับการรักษา
           เมื่อเรามีอารมณ์โกรธ อย่าไปพิจารณาหาเหตุหาผลในอารมณ์โกรธนั้น เพราะอารมณ์โกรธ เปรียบเสมือนไฟกำลังลุกไหม้อย่างรุนแรง ถ้าเราไปพิจารณาหาเหตุหาผล มันก็เหมือนกับเราสาดน้ำมันใส่ลงในกองเพลิง จะยิ่งโหมรุนแรงหนักขึ้น วิธีแก้คือ ให้เราหยุดคิดทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วนั่งดูตัวจิตของเรา ดูจิตในขณะนั้น ดูเฉยๆอยู่อย่างนั้นแหละ อย่าคิดปรุงแต่งอะไรเลยนะ ดูมันเฉยๆยังงั้นแหละ ดูอาการของมัน การที่เรานั่งนิ่งดูมันเฉยๆอยู่อย่างนั้น มันเปรียบเสมือนเราเอาน้ำ ค่อยๆหยดลงบนถ่านไฟทีละหยดๆ ถ่านไฟที่ร้อนเป็นไฟอยู่นั้นมันก็จะค่อยๆเย็นลงๆ และดับไปในที่สุด
          ขณะที่เราเกิดอารมณ์โกรธหรือตกใจ ต่อมแอดรีนัลของร่างกายจะขับสารคัดหลั่งชื่อแอดรีนาลินออกมาสู่กระแสโลหิต สารนี้จะกระตุ้นประสาทออโตโนมิคชนิดที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ฯลฯ คือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาภายในร่างกายนั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของอารมณ์หรือจิตใจกับร่างกายจึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก การกดเก็บอารมณ์ต่างๆ ไว้มาก จึงมีผลเสียต่อร่างกายอาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตเวชที่เรียกว่า โรคไซโคโซมาติค เช่น ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นอาจิณ เป็นแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด โรคปวดท้องบางอย่าง โรคผิวหนังบางอย่าง ฯลฯ   ความกดดันภายในจิตใจจำเป็นต้องมีทางออก คล้ายแรงอัดดันในถังแก๊ส ถ้าไม่เจาะรูให้มันออกเสียบ้าง ถังนั้นอาจจะระเบิดเป็นอันตรายได้ ความกดดันทางจิตใจก็เช่นกัน ถ้าไม่มีทางออกก็จะไปออกทางอวัยวะของร่างกาย ทำให้เกิดโรคไซโคโซมาติคได้
              ภาวะจิตตกเกิดจากตัวเราเอง ต้องแก้ที่ตัวเราถึงแม้ว่ามันจะขัดใจเราอย่างที่สุด วิธีแก้นั้น เราต้องเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติของเราเอง และพยายามมองโลกในแง่ดี นักจิตวิทยาพบว่างานอดิเรกที่จะช่วยให้คนเราหลุดออกจากเรื่องที่หมกมุ่นครุ่นคิด สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง โดยจะได้ความรู้สึกที่ดีเป็นรางวัลกลับมาหางานอดิเรก..
         สภาพจิตของเรามันมีสภาพขึ้นๆลงๆ ดีบ้างไม่ดีบ้าง ดีน้อย ดีมากบ้าง ถือเป็นเรื่องธรรมดาเพียงแต่ว่าเราจะมีสภาวะรู้เท่าทันและจัดการกับมันมากน้อยแค่ไหน ตราบใดที่เรายังไม่ใช่พระอรหันต์ มันเป็นกันทุกคน ฉะนั้นเราต้องมองให้เหมือนท่านเข้าไว้ จิตมันเกิดดับเป็นคราวๆ ถือเป็นกฎธรรมดา บางครั้งด้วยสภาพแวดล้อมพาให้เป็นไป ตามเหตุตามปัจจัยให้มันต้องเป็นไป แต่เราต้องพยายามอยู่เหนืออารมณ์นั้นๆ แพ้บ้างชนะบ้างไม่เป็นไรรู้เห็น กระทบ แล้ว วาง
  สุขทุกข์อยู่ที่ใจเราเอง  แล้ววันนี้คุณลองถามใจตัวเองแล้วหรือยังว่ามีความสุขอยู่หรือเปล่า ?
 
                                                                ด้วยความปรารถนาดีจากฝ่ายประชาสัมพันธ์
                                คณะกรรมการองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ  คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
                                                     โทรศัพท์ 053-945045  หรือเวปไซด์ 
www.nurse.cmu.ac.th

 

Comments

Re: จิตตก ต้อง ยกไหม

อ่านแล้วได้ความรู้จริงๆค่ะ เหมาะกับการนำไปปรับใช้ในการทำงานสมัยนี้
System Account on 10/6/2555 17:59