Skip Ribbon Commands
Skip to main content

การจัดการความรู้ในองค์กร

:

การจัดการความรู้ในองค์กร > Posts > ปัจจัยที่มีผลต่อการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตุลาคม 22
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

new media.png
 

งานบริการการศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ ได้เริ่มนำสื่อใหม่มาใช้ในบริการการให้ข้อมูลและสื่อสารกับนักศึกษามาเป็นระยะเวลาประมาณ 1  ปี การดำเนินงานดังกล่าวพบว่า ช่องทางการสื่อสารโดยใช้สื่อใหม่สามารถใช้ได้กับนักศึกษาบางราย แต่มีนักศึกษาบางรายยังเลือกที่จะใช้บริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารแบบเดิม กรณีที่คณะฯ มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและมีระยะเวลาดำเนินการจำกัด นักศึกษาที่เข้าไม่ถึงช่องทางการสื่อสารแบบใหม่อาจได้รับข้อมูลล่าช้ากว่านักศึกษาคนอื่นหรืออาจไม่ทันการณ์ งานบริการการศึกษา จึงมีความสนใจที่จะศึกษาการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษา ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาระบบการให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักศึกษา ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิธีดำเนินการ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (descriptive research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการเปิดรับสื่อใหม่ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลักสูตรปกติ ที่มีสถานภาพเป็นนักศึกษาปกติ จำนวน 407 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามที่ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ 0.84 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และลักษณะคำตอบเป็นแบบประมาณค่า

ผลการศึกษา
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่​เป็นเพศหญิง มีอายุน้อยกว่า 30 ปี และมีรายได้ต่อเดือนรวม 15,000-20,000 บาท มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มีอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ชนิดพกพาได้แก่ Smart Phone และมีประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ต 5 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนและความรู้ทั่วไป มากที่สุด ร้อยละ 96.1 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ร้อยละ 77.7 และมีความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน ร้อยละ 89.5  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าช่องทาง Line Group ที่ดำเนินการโดยคณะ/เจ้าหน้าที่ประจำสาขาวิชานั้นๆ สะดวกที่สุดในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของคณะพยาบาล ร้อยละ 63.0 รับข่าวสารจากคณะพยาบาลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ร้อยละ 53.8 กลุ่มตัวอย่างรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับผ่านสื่อใหม่ของคณะพยาบาลศาสตร์ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.33 ระดับการรับรู้ว่าสื่อใหม่ของคณะพยาบาลง่ายต่อการใช้งานอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.29 ระดับทัศนคติที่ดีที่มีต่อสื่อใหม่ของคณะพยาบาลอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.29 ระดับความตั้งใจและพฤติกรรมที่จะรับข่าวสารและบริการผ่านช่องทางสื่อใหม่ของคณะพยาบาลอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.25
กลุ่มตัวอย่างมีปัญหาและอุปสรรคในการเปิดรับสื่อใหม่จากคณะพยาบาลศาสตร์ในระดับปานกลาง  ค่าเฉลี่ย 3.00 โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือความเร็วของอินเทอร์เน็ตคณะ ค่าเฉลี่ย 3.09

ประโยชน์ที่ได้รับ
ภายหลังจากการศึกษา หน่วยงานได้จัดทำกลุ่มไลน์ (Line Group) เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารให้กับนักศึกษา หน่วยบัณฑิตศึกษา หน่วยปริญญาตรี และ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล โดยขอความร่วมมือนักศึกษาทุกระดับเข้าร่วมกลุ่มไลน์ในวันปฐมนิเทศนักศึกษา ทำให้การติดต่อสื่อสารและการแจ้งข่าวสารไปยังนักศึกษาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตรวจสอบได้ว่านักศึกษาได้รับทราบข่าวสารครบทุกคน 

Comments

There are no comments for this post.