Skip Ribbon Commands
Skip to main content

การจัดการความรู้ในองค์กร

:

การจัดการความรู้ในองค์กร > Posts > ปัจจัยที่มีผลต่อการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตุลาคม 22
ปัจจัยที่มีผลต่อการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

​การทำวิจัยเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ และเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศชาติ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาสภาพปัญหาอุปสรรคในการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

2. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาอุปสรรคในการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิธีดำเนินการ

การวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แบ่งเป็นด้านบรรยากาศการวิจัย ด้านการสนับสนุนจากหน่วยงาน ด้านความรู้เกี่ยวกับการวิจัย และด้านสิ่งอำนวยความสะดวกของหน่วยงาน และศึกษาสภาพปัญหาอุปสรรคในการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ คณาจารย์ที่ปฏิบัติงาน ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จำนวน 70 ราย เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ปัจจัยที่มีผลต่อการทำวิจัยของบุคลากร ของ ฐิติพร ตันติศรียานุรักษ์  รัชฎา ธิโสภา และอรดา เกรียงสินยศ  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษา
ประชากรให้เหตุผลของการทำวิจัย เนื่องจากมีความสนใจใฝ่รู้ (ร้อยละ 40) มีประสบการณ์ในการทำวิจัย 1-5 เรื่อง ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 67.1) แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัยส่วนใหญ่จากงบประมาณ เงินรายได้ของคณะพยาบาลศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ร้อยละ 84.3) อีกทั้งผลงานวิจัยส่วนใหญ่มีการนำเสนอผ่านการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ (ร้อยละ 78.6) ในส่วนของปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการทำวิจัยพบว่าอยู่ในระดับมากทั้งในภาพรวมและรายด้าน ได้แก่ ด้านบรรยากาศการวิจัย ด้านการสนับสนุนจากหน่วยงาน ด้านความรู้เกี่ยวกับการวิจัย และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ปัญหาอุปสรรคในการทำวิจัยของประชากร พบว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานวิจัย ร้อยละ 52.9  ปัญหาอุปสรรคที่พบในการวิจัย ได้แก่ ความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัย  การสนับสนุนจากหน่วยงานและผู้บังคับบัญชา   บรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก

ประโยชน์ที่ได้รับ
นำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการส่งเสริมการทำวิจัยของคณาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ด้านวิจัยของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Comments

There are no comments for this post.